ผิวพรรณ… อาภรณ์ชิ้นงามจากธรรมชาติ
ผิวพรรณ เสมือนดังอาภรณ์ชิ้นงามที่รังสรรค์โดยธรรมชาติ นอกจากจะเป็นเครื่องเสริมบุคลิกภาพของเราให้ดูสง่างามที่แสดงถึงความเป็นตัวเราแล้ว ผิวยังทำหน้าที่ที่สำคัญคือ ปกป้องอวัยวะภายใน และรักษาระดับอุณหภูมิให้กับร่างกายของเราด้วย
ดังนั้น เราทุกคนจึงจำเป็นที่ต้องเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับโครงสร้างของผิว เพื่อให้ทราบถึงลักษณะผิวในแต่ละชั้นว่าเป็นเช่นใด นำมาซึ่งการดูแลผิวพรรณที่ถูกต้องต่อไป ก่อนที่ผิวสวยจะโบกมือลาจากเรา เพราะไม่รู้จักผิวพรรณอย่างแท้จริงนั่นเองค่ะ
ผิวหนังประกอบด้วยโครงสร้าง 3 ชั้นใหญ่ ดังต่อไปนี้ คือ
ชั้นหนังกำพร้า (Epidermis)
ชั้นหนังกำพร้า
ผิวชั้นนอกเป็นผิวชั้นที่อยู่ชั้นนอกที่สุดของชั้นผิวหนัง มีความหนาไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับแต่ละส่วนของร่างกาย ซึ่งชั้นเซลล์ผิวชั้นนอกนี้ จะแยกย่อยเป็นอีก 4 ชั้นหรือ 5ชั้น แล้วแต่บริเวณ โดยบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้ามี 5 ชั้น ส่วนในบริเวณอื่นๆของร่างกายจะมี 4 ชั้น เซลล์ผิวชั้นบนนี้จะมีการผลัดเซลล์ทุกๆ 56 วัน เพื่อให้เซลล์ใหม่ขึ้นมาทำหน้าที่แทน
หน้าที่หลักของผิวชั้นนอกมี 3 อย่าง คือ
- รับสัมผัส
- สร้างเม็ดสีผิว
- ปกป้องผิวจากสิ่งรบกวนภายนอก
สำหรับผิวชั้นนอก แบ่งย่อยออกมาได้อีก 5 ชั้น
ชั้นขี้ไคล (Stratum Corneum) อยู่ชั้นบนสุดของผิวชั้นนอก ปกติแล้วชั้นขี้ไคลนี้จะมีปริมาณน้ำอยู่ 15–20% หากมีปริมาณน้ำน้อยกว่า 10% ผิวหนังจะมีลักษณะแห้ง ลอก บอบบาง แพ้ง่าย แต่หากมีปริมาณน้ำน้อยกว่า 5% จะมีลักษณะแตกลาย เพียงสัมผัสเบาๆอาจรู้สึกเจ็บ
ชั้นโปร่งใส (Stratum Lucidum) พบเฉพาะผิวหนังฝ่ามือ ฝ่าเท้า จัดเป็นชั้นผิวหนังประเภท thick skin
ชั้นแกรนูลาหรือชั้นเม็ด (Stratum Granulosum) มีลักษณะโปร่งใสเป็นวงรีเรียบแบน มีส่วนประกกอบหลักสามส่วนที่สำคัญ ได้แก่ ไกลโคโปรตีน น้ำตาลเชิงซ้อนและไขมัน
ชั้นสไปนี่หรือชั้นหนาม (Stratum Spinosum) เซลล์มีขนาดใหญ่เล็กต่างกันคล้ายหนาม มีจำนวนมากที่สุดของชั้นหนังกำพร้า มีการเกี่ยวพันกันอย่างแนบแน่นคล้ายสะพาน มีหน้าที่ส่งข้อมูลและสารอาหารซึ่งกันและกัน มีแลงเกอร์ฮานส์ เซลล์ ทำหน้าที่เตือนภัยจากสิ่งรบกวนภายนอก เช่น อาการแสบ คัน เป็นต้น
ชั้นบาซอลหรือชั้นพื้นฐาน (Stratum Basale) เป็นชั้นที่ลึกที่สุดของผิวชั้นนอก เรียงตัวเป็นชั้นเดียว ยึดติดอยู่กับชั้นหนังแท้ มีคุณสมบัติในการแบ่งตัว สร้างแซลล์ใหม่ และซ่อมแซมเซลล์ ทุกๆ 1 ใน 10 ของเซลล์จะพบเซลล์เมลาโนไซต์ ที่คอยผลิตเม็ดสีเมลานิน เมื่อได้รับการกระตุ้นจากภายนอก เช่น แสงแดด หรือภายใน เช่น ฮอร์โมน จะมีการขับสารสีเพื่อมาปกป้องผิว
ชั้นหนังแท้ (Dermis)
อยู่ถัดมาด้านในต่อจากชั้นหนังกำพร้า ชั้นนี้ประกอบด้วยคอลลาเจนและอิลาสติน ซึ่งสัมพันธ์โดยตรงกับแสงแดด และการเกิดริ้วรอย เพราะถ้าเราได้รับรังสีอัลตร้าไวโอเล็ตมาก คอลลาเจนและอิลาสตินก็จะถูกทำลาย ผลคือ ริ้วรอยเหี่ยวย่นที่รักษายาก นอกจากนี้ ผิวหนังชั้นนี้ยังเป็นที่อยู่ของต่อมเหงื่อ, ต่อมกลิ่น, ต่อมไขมัน, เส้นเลือด, หลอดน้ำเหลือง, เส้นประสาท และรากขน
ชั้นไขมัน (Subcutaneous Fatty Tissue)
อยู่ด้านในสุด ทำหน้าที่เป็นฉนวนกันกระแทก ระหว่างผิวหนังและกล้ามเนื้อที่อยู่ภายใน และเป็นที่สะสมของไขมัน เพื่อนำมาใช้เป็นพลังงานให้กับร่างกาย แต่จะบางลงเมื่อมีอายุมากขึ้น